top of page

ในการเล่น Piano มือขวา เราสามารถเล่นเป็นอะไรได้บ้าง?

ในการเล่น Piano มือขวา เราสามารถเล่นเป็นอะไรได้บ้าง?



มีทั้งหมด 4 แบบครับ คือ

  • เล่นโน้ตตัวเดียว = ทำนองหรือเมโลดี้

  • เล่นโน้ต 2 ตัวพร้อมกัน = ขั้นคู่หรือการประสานเสียง (จะมีเสียงนึงเป็นเมโลดี้ อีกเสียงจะเป็นเสียงประสาน

  • เล่นโน้ต 3 ตัวพร้อมกัน = ทรัยแอดแต่เรามักนิยมเรียกเหมารวมว่าเป็นคอร์ดไปเลยเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ (อันนี้ไม่ต้องจำก็ได้ เพราะไม่ค่อยมีใครเรียกว่าทรัยแอดเท่าไหร่ เข้าใจว่าเป็นคอร์ดไปเลย)

  • เล่นโน้ต 4 ตัวขึ้นไปพร้อมกัน = คอร์ด ซึ่งรวมไปถึงการกดพวก Tension อย่าง 7, maj7, 6 ฯลฯด้วย

เวลาเราเล่นเปียโนป็อปแบบบรรเลงแรกๆ การเล่นเมโลดี้ตัวเดียวแบบไม่เพี้ยนได้จนจบเพลงก็ถือว่ายากแล้ว ต่อมาถ้าเราใส่เสียงประสานหรือขั้นคู่เข้าไป ก็จะยิ่งทำให้เมโลดี้เราเพราะขึ้น (ขั้นคู่ใช้ตามสถานะการณ์ไม่ว่าจะคู่ 3 / 4 / 5 / 6 ก็ต้องดูความเหมาะสมในแต่ละจุด)


ต่อมายากขึ้น ถ้าเราบรรเลงไปด้วยแล้วกดเป็นคอร์ดไปด้วยจะยิ่งทำให้การเล่นของเราแน่นขึ้น แล้วคอร์ดต้องกดตอนไหนล่ะเพราะมือขวาเราเล่นเมโลดี้อยู่นิ ? หลักๆ แล้วก็มี 2 จุดครับคือ


  1. ช่วงหัวห้องที่คอร์ดเปลี่ยนใหม่ๆ เราก็กดเมโลดี้ควบคอร์ดไปด้วยเลยเช่น หัวห้องนั้นเป็นคอร์ด C แล้วเมโลดี้เป็นตัว E เราก็ให้ตัว E อยู่เสียงสูงที่สุดแล้วกดโน้ต G, C เป็นตัวประสานไปเลย 2 ตัว พอกด 2 ตัวนี้เข้าไป ตามทฤษฎีมันก็ไม่ใช้ขั้นคู่ละ มีครบ 3 ตัวแบบนี้เรียกคอร์ดไปเลย (ที่จริงเรียกตรัยแอดนะอย่าลืม แต่แค่ไม่ค่อยนิยมเรียกกันเท่าไหร่) ดังนั้นตรงหัวห้องหรือจังหวะที่ 1 ของห้องนี้ก็จะได้มือขวากด G C E ตามลำดับ ทำให้ซาวด์ของเราแน่นขึ้นเยอะ ดีกว่ากดตัว E ตัวเดียวโล่งๆ มือขวามีเพื่อนขึ้นมาเยอะดูโปรมากกว่าเดิม 555+

  2. เล่นคอร์ดในจังหวะที่เมโลดี้มือขวาลากยาว ตั้งใจอ่านดีๆ นะตรงนี้ อย่างเช่นห้องนั้นเราต้องเล่นตัว E ลากยาว 4 จังหวะ ถ้าเรากดตัว E ค้างไว้จนครบ 4 จังหวะจะทำให้การเล่นเราดูเหงามาก มันเงียบๆ ไม่มีอะไรมาเสริมให้น่าสนใจเลย แบบนี้เราสามารถกดตัว E ในจังหวะที่ 1 ของห้องให้เรียบร้อยแล้วใช้แพดเดิลเท้า (ซึ่งจริงๆเราก็เหยียบกันตลอดนั่นแหละ) เป็นตัวลากเสียงค้างไว้แทนการที่มือเราต้องกดแช่ด้วยตัวเอง แล้วในจังหวะที่ 2 เราก็ละมือไปเล่นคอร์ดที่ช่วงออคเต็ปที่ต่ำกว่าไลน์เมโลดี้ซะ เล่นให้ครบจังหวะของคอร์ดอย่างถ้าคอร์ด C ต้องเล่น 4 จังหวะเราก็กดไปอีก 3 ครั้งตัวค่าโน้ตตัวดำธรรมดาไม่ต้องรัวมากมาย (จังหวะที่ 1 เป็นเมโลดี้ไปแล้วนะอย่าลืม เราเลยกดได้อีก 3 ทีเพื่อให้ครบ 4 จังหวะ) การทำแบบนี้จะทำให้การเล่นมือขวาของเราไม่ดูโล่งจนเกินไปเมื่อเจอโน้ตลากเสียงยาวๆ การที่ละมือมาเล่นตีคอร์ดเสียงต่ำกว่าไลน์เมโลดี้ช่วยทำให้การเล่นของเราดูโปรได้แบบง่ายๆเหมือนกัน แต่มันจะยากถ้าลืมว่าเมโลดี้ท่อนต่อไปคือโน้ตอะไร มัวแต่สนใจลงมากดคอร์ด 555+


เป็นทริคง่ายๆสำหรับมือขวาที่ผมเอามาแชร์ให้นะครับ ลองซ้อมตามแนวคิดนี้ดูครับ จะช่วยให้การเล่นบรรเลงของเราหลากหลายขึ้นได้อีกเยอะครับ


ครูเบลล์ ^ ^

Recent Posts
Archive
Search By Tags
ยังไม่มีแท็ก
bottom of page