เรียนดนตรีอย่าใจร้อน
ปัญหานึงที่ผมเจอเวลาสอนนักเรียน (โดยเฉพาะ นร.ที่โตแล้ว) คือจะใจร้อนอยากเล่นเป็นเร็วๆ อยากเก่งเร็วๆ แต่ถามว่าเรื่องเบสิคที่สอนไปทำได้ดีหรือยัง คำตอบคือยัง แล้วให้เหตุผลว่า "เดี๋ยวไปซ้อมเอง"
ถ้าเป็นแบบนี้ผมว่ามันจะสร้างนิสัยการเล่นดนตรีที่ไม่ละเอียดให้เกิดขึ้นกับเรา ในระยะยาวเราจะเรียนเทคนิคขั้นยากๆ ไม่ได้เพราะเราจะทำลวกๆ รีบๆ เรียนให้รู้แต่ไม่เคยฝึกให้คล่องจริงๆ สักที สุดท้ายก็เป็นคนที่เล่นดนตรีได้แบบไม่มีรายละเอียด
ผมมองว่ายุคนี้ หลายๆ อย่างทำให้คนเรามีสมาธิสั้นลงมากเพราะไลฟ์สไตล์ในยุคนี้ทำให้เราติดอะไรที่เร็วๆ รวดเร็ว มือถือมีเน็ตอยากรู้อะไรก็รู้ได้เลยไม่ต้องเปิดหนังสือ การเดินทางสะดวกไปไหนมาไหนได้ง่ายขึ้น (ไม่นับตอนรถติดนะ) เหมือนโลกเราหมุนไวขึ้นทำให้เราติดนิสัยคิดเร็วทำเร็วต้องการเห็นผลเร็ว
เมื่อก่อนสมัยสักปี 2548 ตอนผมยังเรียนดนตรีจริงจังในมหาลัยฯ ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตไวเท่ายุคนี้ (4G ยุค 2560) มือถือก็ยังเล่นเน็ตได้ไม่ดีคลิปก็ไม่ค่อยมีให้ดู เวลาซ้อมดนตรีจึงเหมือนมีสมาธิได้มากเพราะสิ่งรบกวนมันยังไม่เยอะ จะมีก็แค่เพื่อนเดินมาก่อกวนที่ห้องซ้อมแค่นั้น55+
แต่มายุคนี้ผมเห็น นร.เอกดนตรีซ้อมในห้องซ้อมแล้วเหนื่อยแทน ซ้อมๆ อยู่ Line เด้งเข้ามาก็หยุดแชท ใครแท็กอะไรใน Facebook ก็หยุดซ้อมมาตอบเม้นท์ มือถือนี่วางไว้บนสแตนโน้ตเลย 4G ยุคนี้จึงเหมือนตัวทำลายสมาธิของคนเรียนดนตรียุคนี้เลยถ้าไม่รู้จักควบคุมมัน
นอกจากนั้นบางคนเวลาเปิดเจอคลิปคนเก่งๆ เล่นเราก็อยากเก่งให้ได้เหมือนเขาไวๆ ก็พยายามไปแกะลูกโซโล่ลูกเทคนิคของเขา พยายามอิมโพรไวซ์ให้เหมือนเขา แต่หารู้ไม่ว่าคนที่เขาเก่งระดับนั้นเขาผ่านอะไรมานานเท่าไหร่ ฝึกซ้อมมากี่ปี ซ้อมเทคนิคเดิมๆลูกเดิมซ้อมกี่ร้อยรอบ ขึ้นเวทีมากี่สิบเวที และอีกมากมายที่เขาผ่านมันมาในอดีตกว่าจะมาถึงจุดนี้ แต่เรากลับมองเห็นผลลัพย์ของการฝึกฝนของเขาแล้วอยากจะเก่งไวๆให้ได้เหมือนเขาใน 1เดือน 1 อาทิตย์หรือแย่หน่อยก็ใน 1 วัน !!
ดนตรีไม่มีทางลัดครับ อยากเก่งต้องซ้อมไปตามระดับความยากของตัวเองให้คล่องแล้วจึงไปขั้นที่ยากกว่า "อยากเก่งไวก็ต้องซ้อมให้มากขึ้น" มีความอดทนมีวินัยการซ้อมที่สม่ำเสมอ หน่วยเวลาไม่มีใครบอกได้ว่าจะต้องนานเท่าไหร่ ถึงจะเก่ง แต่ให้วัดจากความรู้สึกครับว่าเรื่องที่เรากำลังเรียนกำลังฝึกอยู่นี้เราทำมันคล่องแล้วจริงๆโดยไม่เข้าข้างตัวเอง ถ้าคล่องแล้วค่อยหาสเตปที่ยากขึ้นฝึกต่อไป และไม่ลืมที่จะกลับมาทบทวนเนื้อหาเก่าซ้ำๆ
"คนจะเรียนดนตรีได้ดี ต้องไม่ลืมทบทวนเรื่องเก่าๆที่เรียนไปแล้ว"
อีกเรื่องนึงที่สำคัญคือมีคนแนะนำหรือมีครูที่ดีคอยสอนเรา เพราะครูที่ดีคือคนที่จะทำให้เราไม่ซ้อมออกนอกลู่นอกทาง ครูที่สอนเก่งๆจะช่วยประหยัดเวลาในการเรียนรู้ให้เราได้เยอะมากๆ และการเรียนกับครูต้องไว้ใจในตัวครูที่สอนเรา เขาให้ฝึกอะไรเราก็ควรทำมันให้ดี การเสนอไอเดียว่าอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วให้ครูสอนให้ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ ต้องไม่ใจร้อนที่จะผ่านมันไปแบบลวกๆ เพราะนอกจากเราจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังทำให้ครูสอนต่อยอดให้เราได้ยาก
เรื่องสุดท้ายที่จะทำให้เราใจร้อนคือ การเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น เช่นเพื่อนเริ่มเรียนมาด้วยกันแต่เล่นเป็นเพลงได้ก่อนเรา เล่นเทคนิคยากๆ ได้ก่อนเรา อย่าไปเทียบกันแบบนั้น มองที่ตัวเราแล้วพัฒนาจากในตัวเราก็พอ
"วิธีเก่งกว่าเพื่อนก็คือ ซ้อมให้มากกว่าเพื่อน"
บางทีเราอาจจะมีจุดเด่นหรือทำเทคนิคที่ทำได้ดีกว่าคนอื่นก็ได้ หามันให้เจอ มัวแต่ไปแข่งในทางของคนอื่นมันก็จะออกนอกเส้นทางความเป็นตัวเองของเราไป (คราวนี้ก็มั่วเลย หาตัวเองไม่เจอ)
สรุปคือ เรียนดนตรีอย่าใจร้อน ค่อยๆ ไปช้าๆ อย่างมั่นคง ซ้อมสม่ำเสมอให้คล่องมากพอเพื่อขยับไปขั้นที่ยากกว่า มีครูที่ดีแนะนำและไม่ต้องเอาฝีมือตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
"ถ้าไม่ได้เกิดเป็นไม้บรรทัด ก็อย่าเอาตัวเองไปวัดกับคนนั้นคนนี้"
ครูเบลล์ ^ ^ <3 www.bellpianopop.com
line id : @bellpianopop