5 ปัจจัยในการเล่นฝึกเล่นดนตรีให้ประสบความสำเร็จ
บทความนี้จะมาแชร์ 5 ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็จ ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง (บอกก่อนเลยว่ายาว) ปัจจัยที่ 1 เครื่องดนตรี ถ้าไม่นับความชอบที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว เครื่องดนตรีถือเป็นปัจจัยแรกๆที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการฝึกซ้อม แบ่งออกเป็นข้อย่อยได้ 2 ข้อคือ - เป็นเครื่องที่ตรงความต้องการของผู้ฝึก คือ เครื่องดนตรีต้องตรงกับทักษะที่เราอยากจะฝึก ไม่ใช่อยากฝึกกีตาร์ไฟฟ้าแต่ซื้อกีตาร์อคูสติก อยากฝึกเปียโนคลาสสิคแต่ซื้อคีย์บอร์ด แบบนี้เป็นต้น - สภาพพร้อมตอบสนองการซ้อมได้เต็มที่ คือ เครื่องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ชำรุด ฟังก์ชั่นที่ต้องใช้งานสามารถใช้ได้เต็มที่ ปัจจัยที่ 2 การฝึกซ้อม มีเครื่องแล้วแต่ไม่ซ้อมก็เหมือนไม่มี ดังนั้นเมื่อมีเครื่องดนตรีแล้วต้องหาเวลาซ้อมให้เพียงพอด้วย ปัจจัยเรื่องการซ้อมแบ่งเป็นหัวข้อย่อยได้ 3 ข้อคือ - มีเวลาซ้อมสม่ำเสมอ ไม่ทิ้งช่วงการซ้อมเกินไป ซ้อมทุกวันวันละนิดยังดีกว่านาน ๆ ซ้อมทีแต่ซ้อมอัดไปทั้งวัน ความสม่ำเสมอสำคัญมากในการเรียนรู้ทุก ๆ เรื่อง - มีสมาธิพร้อมสำหรับการซ้อม ถึงจะมีเวลาแต่ถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่มีประโยชน์เพราะซ้อมไปก็ไม่เข้าหัว ก่อนการซ้อมต้องเคลียร์เรื่องที่ทำให้เราไม่มีสมาธิออกไปให้หมด สภาพจิตใจต้องพร้อมจะฝึกซ้อม รวมไปถึงสภาพร่างกายก็เช่นกัน ถ้าไม่สบายหรืออ่อนล้ามาก ๆ ต่อให้มีเวลาก็ซ้อมได้ไม่เต็มที่ - ซ้อมอย่างถูกต้อง ซึ่งข้อนี้มีผลต่อพัฒนาการของเราโดยตรง ถ้าซ้อมผิด ๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์และทำให้พัฒนาการเราช้ามาก การซ้อมที่ถูกต้อง เช่น การโฟกัสแก้ไขจุดบกพร่องในการเล่นเพลงนั้น ๆ การย่อยท่อนเพลงออกเป็นท่อนสั้นๆเพื่อให้จำง่ายขึ้นเป็นต้น ปัจจัยที่ 3 สภาพแวดล้อม เป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญพอสมควร แบ่งออกเป็น 2 ข้อย่อยคือ - สถานที่ มีสถานที่เหมาะสำหรับการซ้อม สามารถซ้อมได้ทุกเวลาที่ต้องการ และใช้เสียงได้เต็มที่ไม่รบกวนผู้อื่นเวลาซ้อม อย่างหลังสามารถแก้ขัดได้ด้วยการใช้หูฟังสำหรับเปียโนไฟฟ้า หรือเหยียบสักกะหลาดสำหรับเปียโนอัปไรท์ - มีสังคมดนตรี การได้รู้จักคนที่เล่นดนตรีด้วยกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้หรือฝึกซ้อมด้วยกันช่วยให้เราพัฒนาได้เร็วขึ้น เพราะเราได้เห็นการเล่นของคนอื่นอาจเกิดไอเดียหรือแรงบันดาลใจมาใช้พัฒนาตัวเองซึ่งดีกว่าการเก็บตัวฝึกอยู่คนเดียว (สังคมออนไลน์อาจพอแก้ขัดได้บ้างเช่นเวปบอร์ด กลุ่มFacebookหรือกลุ่มLine แต่ยังไงก็ไม่เท่าการเจอตัวกันจริง ๆ ) ปัจจัยที่ 4 คนสอน การมีคนสอนที่เก่ง ๆ จะช่วยแนะนำแนวทางที่ถูกต้องและย่นระยะเวลาในการฝึกด้วยตัวเองลงไปได้มาก ปัจจัยนี้แบ่งออกเป็นข้อย่อยคือ - ครู หรือ ผู้มีประสบการณ์ การได้เรียนกับคนเก่ง ๆ ที่มีประสบการณ์โดยตรง ได้เห็นตัวอย่างได้ถามคำถามที่สงสัย เป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ ในการเรียนรู้ทักษะต่างๆ รวมถึงดนตรี - ตำรา เช่น หนังสือเรียน แบบฝึกหัดต่าง ๆ ที่หาซื้อได้ทั่วไป แม้แต่สื่อออนไลน์ที่ค้นหาข้อมูลได้ฟรีทั้ง Google และ Youtube แต่ยังไงก็ไม่เท่ากับการได้เรียนรู้จากครูจริง ๆ ปัจจัยที่ 5 เวที และ การเล่นร่วมกับคนอื่น เป็นปัจจัยที่หลายคนนึกไม่ถึงหรือไม่ให้ความสำคัญ เพราะหลายคน(โดยเฉพาะผู้ใหญ่) มีความสุขอยู่กับการฝึกเล่นส่วนตัวและไม่กล้าที่จะเล่นให้คนอื่นดูหรือเล่นร่วมกับคนอื่น แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของครูเบลล์บอกได้เลยว่าการเล่นให้คนอื่นดูเป็นอีกนึงทักษะที่จ่ายเงินซื้อมาไม่ได้ เราต้องหาโอกาสหรือสร้างโอกาสนั้นขึ้นมาเอง และมันมีผลต่อพัฒนาการการเล่นของเราอย่างมากๆๆๆๆ มันคือปัจจัยที่สร้างความแตกต่างให้แต่ละคนอย่างชัดเจน จากประสบการณ์ที่ผมสอนมา หลายครั้งผมสอนทุกอย่างที่นร.ต้องรู้หมดแล้ว แต่นร.ก็ยังขาดบางสิ่งบางอย่างเช่น ยังไม่เข้าใจการจำโน้ต ยังไม่เข้าใจการเล่นจังหวะให้สม่ำเสมอ ยังไม่เข้าใจการอิมโพรไวซ์ ยังไม่เข้าใจไดนามิค ถามว่าเรื่องเหล่านี้สอนกันได้ไหม ตอบว่าได้แต่จะเป็นในมิติเล็ก ๆ มุมเล็ก ๆ อย่างเปิดเมโทรนอมเล่นเพื่อคุมจังหวะ เขียนเครื่องหมายไดนามิคบอกในคอร์ดเพื่อให้รู้ว่าต้องดัง-เบาตรงไหน ต้องบอกว่าช่วงว่าง ๆ ตรงท่อนนี้ควรเล่นโน้ตอะไรไม่ให้เพลงเงียบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะเรียนรู้ได้เองหากมีประสบการณ์การเล่นกับคนอื่น การออกเวทียังสอนเราเรื่องโฟกัสการเล่นขณะแสดงสด และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่มีโอกาสเจอในห้องเรียน มันคือประสบการณ์นอกตำราเรียนที่ครูก็สอนให้ไม่ได้ เหมือนหัดขับรถอยู่แต่ในหมู่บ้านจนคล่องแต่ไม่เคยออกถนนใหญ่นั่นแหละ ประสบการณ์การมันต่างกันมาก บทความนี้ค่อนข้างยาวและหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ทั้งหมดนี้เขียนออกมาจากประสบการณ์ของครูเบลล์โดยตรง อาจมีจุดหนึ่งจุดใดผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้และคอมเม้นท์พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ครับ เราแยกดนตรีออกจากชีวิตเราไม่ได้ ถึงไม่เป็นคนเล่นเราก็เป็นคนฟังอยู่ดี แต่ถ้าเราคิดจะเล่นดนตรีแล้วสิ่งที่จะแตกต่างจากการฟังคือมันจะเกิดความท้าทาย การฝึกเล่นดนตรีมีความยากและบททดสอบอยู่ในทุกระดับการฝึกเสมอ หวังว่าปัจจัยทั้ง 5 ที่แชร์ในบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเห็นภาพรวมในการพัฒนาทักษะดนตรีและบรรลุเป้าหมายของการเล่นดนตรีได้ทุกคนนะครับ ครูเบลล์ ^ ^