top of page

นักดนตรี "ป๊อบ" ควรศึกษาทฤษฎีดนตรีสากล ในเรื่องใดบ้าง ?

บทความแรกของปี 2016 ครับผม เกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีดนตรี (สากล)

เชื่อว่าเริ่มต้นปีใหม่ หลายๆคนคงตั้งใจจะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆมากมาย บทความนี้ผมจะมาแนะนำการเริ่มต้นเรียนดนตรีที่ยั่งยืนกันครับ ซึ่งบทความนี้จะพูดถึงเรื่องทฤษฎีดนตรีเป็นหลักสำหรับคนที่ปีนี้ตั้งใจจะเล่นดนตรีให้เก่งขึ้น ^ ^

การจะเล่นดนตรีให้เก่งได้นั้นต้องประกอบไปด้วย 2 ทางคือทฤษฎีกับปฏิบัติ แทบไม่มีใครครับที่เล่นดนตรีเก่งๆแล้วไม่รู้เรื่องทฤษฎีดนตรีเลย การจะต่อยอดได้อย่างยั่งยืนนั้นเราต้องมีความรู้ทางทฤษฎีประกอบไปด้วย หลายๆคนมักถามผมว่าอิมโพรไวซยังไงถึงจะเพราะ ผมก็แนะนำว่าให้ฝึกเล่นแต่โน้ตในคอร์ดไปก่อนจากนั้นก็ค่อยๆขยับไปเล่นโน้ตนอกคอร์ดดูบ้างแล้วลองฟังเสียงที่เล่นไปด้วยว่าชอบไหม บางคนยังงงอยู่เลยว่าโน้ตในคอร์ดมันคืออะไร? แบบนี้กำลังมาผิดทางครับ เหมือนเราเรียนอยู่ป.2 แต่ไปถามเนื้อหาของม.3 อะไรแบบนั้น คือหลายๆอย่างมันต้องรู้ไปเป็นขั้นตอนครับข้ามขั้นไม่ได้ ผมจะแนะนำให้เป็นลำดับนะครับว่าทฤษฎีดนตรีเราควรจะเริ่มศึกษาจากอะไรบ้างสำหรับเล่นดนตรีป็อป

  • Scale (Diatonic Major และ minor) เรื่องนี้เป็นเรื่องต้นๆที่ควรศึกษาครับเพราะทุกเพลงมี Scale รองรับเสมอไม่ว่าจะแนวไหน Scale มีหลายแบบมากๆครับแต่เริ่มจากง่ายที่สุกก็คือ Diatonic Scale ที่เป็นพื้นฐานที่สุดประกอบไปด้วยโน้ต 8 ตัวที่เรารู้จักกันในชื่อโดเรมีฟาซอลลาทีโดนั่นแหละครับ ที่ต้องทำคือจำโครงสร้างของ Scale ให้แม่นๆ ครับ ใครไม่รู้จัก Scale นี่ต่อยอดอะไรๆยากเหมือนกัน

  • Interval (ขั้นคู่) อันนี้เป็นทฤษฎีที่จะทำให้เราใส่เสียงประสานในการเล่นเมโลดี้ได้เพราะขึ้นครับ เรื่องขั้นคู่มีเยอะมากๆ แต่ที่ใช่ในเปียโนป็อปนั้นไม่เยอะเท่าไหร่ ส่วนมากใช้แค่คู่ 3 Major, 4 Perfect, 5 Perfect, 6 Major หรือ 8 Octave ประมาณนี้ครับที่เจอบ่อยๆ จะใช้คู่ประสานอะไรก็ต้องดูไลน์เมโลดี้อีกที่

  • Arpeggio เป็นพี่น้องกับเรื่อง Scale ครับมันคือการเล่น Scale แบบข้ามๆ นั่นเอง เรื่อง Arpeggio เป็นเรื่องที่จะนำพาไปสู่เรื่องคอร์ดต่อไป ถ้าเรารู้เรื่อง Interval+Arpeggio ได้แล้วเราก็เริ่มอิมโพรไวซ์การเล่นขึ้นมาเองได้แล้วครับ เพราะเราจะรู้แล้วว่าอิมโพรไวซ์ยังไงไม่ให้เพี้ยน

  • Chord รวมไปถึงเรื่องของ Tention Chord ถือเป็นหัวใจสำคัญของดนตรีป็อปเลยครับ จะ Pop/ Rock/ Jazz หรือแม้แต่ Classic ก็ล้วนแต่ต้องรู้จักเรื่องคอร์ด เพราะนอกจากจะทำให้เราเล่นเป็นเพลงยากๆ ขึ้นได้แล้ว ยังทำให้เราเริ่มหัดสร้างดนตรีด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ด้วย (บางคนอาจเคยเอาคอร์ดมาเรียงๆกันใหม่แล้วลองแต่งเพลงเล่นๆ ดูโดยเฉพาะคนที่หัดเล่นกีตาร์) และยิ่งถ้าใส่ Tention คอร์ดเป็นด้วยยิ่งจะทำให้ดนตรีของเราเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้เลย อย่างเช่นเวลาเราเปิดคอร์ดในหนังสือเล่นเพลงตามเพลง ทำไมเสียงคอร์ดไม่เหมือนกับในเพลงทั้งๆที่เราก็จับคอร์ดเหมือนเขา นั่นเพลงตอนที่เขาแต่งเพลง เขาใส่ไลน์ดนตรีที่มี Tention ของตัวเองเข้าไป ใส่ลูกพลิกกลับของคอร์ดเข้าไปทำให้เสียงจับทางยากเป็นต้น

  • Chord Progression (การดำเนินคอร์ด) อันนี้คือที่สุดแห่งทฤษฎีที่ขาดไม่ได้เลยครับสำหรับนักดนตรีสาย Pop/ Rock/ Jazz เพราะแนวดนตรีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินคอร์ดทั้งนั้น การเอาคอร์ดมาเรียงสลับกันใหม่ สามารถเปลี่ยนให้เพลงที่ฟังเศร้าๆ ให้ฟังเป็นเพลงรักขึ้นมาได้ เปลี่ยนเพลงหม่นๆเป็นเพลงที่มีพลังขึ้นมาได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญแทบจะที่สุดครับเพราะถ้าเราเก็ทเรื่องนี้ได้ มันจะทำพาให้เราเล่นแบบใช้หูได้โดยไม่ต้องดูคอร์ดอีกต่อไป (บายฮาร์ท) เคยเห็นคนเล่นกีต้าร์เปิดเพลงแล้วดัดตามได้เลยไหมครับโดยไม่ต้องดูคอร์ด นั่นแหละครับเพราะหูเขาฟัง Chord Progression ออกนั่นเองเลยเดาคอร์ดได้โดยไม่ต้องเปิดคอร์ดดู

ความรู้ทั้ง 5 อย่างนี้ผมสรุปขึ้นมาเองจากประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ ถ้าศึกษาจนเข้าใจได้จริงๆจะทำให้เราเริ่มคิดแตกต่างออกไปแล้วครับ จากที่เคยเล่นตามคอร์ดคราวนี้เราจะเริ่มลองใส่อะไรเข้าไปด้วยตัวเอง เราจะสนุกกับดนตรีมากขึ้น นอกจากนี้ถ้ามีเวลาก็ควรศึกษาให้ละเอียดขึ่นไปอีกเช่นเรื่องของ Time Signature, Key Signature, Mode (สำหรับคน Jazz), ค่าโน้ตต่างๆ เพื่อหัดอ่านบรรทัด 5 เส้น เป็นต้น การเล่นดนตรีที่ดีต้องมีทฤษฎีเป็นเรื่องคู่กันครับ เวลาเล่นเพลงอยู่บางครั้งนักดนตรีเขาก็กำลังคิดลูกอิมโพรไวซ์โดยอิงว่าตอนนั้นกำลังเล่นคอร์ดอะไรอยู่ วินาทีนั้นเขาก็จะเริ่มคิดถึงโน้ตในคอร์ดว่าจะเล่นตัวไหนได้บ้างรวมไปถึงคิดล่วงหน้าด้วยว่ากำลังจะวิ่งไปหาคอร์ดอะไรเพื่อให้อิมโพรไวซ์ได้ไม่เพี้ยนเมื่อลงคอร์ดต่อไป ฟังดูยากและคิดเยอะใช่ไหม แต่ถ้าฝึกฝนทำบ่อยๆมันจะเริ่มคิดได้เป็นอัตโนมัติเหมือนเวลาเราบวกลบเลขนั่นแหละครับ หลายคนใจร้อนอยากเก่งเร็วอยากโซโล่ไปเลย สอนอิมโพรไวซ์เทพเลยได้ไหมไม่ต้องมานั่งฝึกนั่งอ่านเรื่องทฤษฎีหรอก ผมบอกได้เลยว่าเก่งเร็วแบบนั้นไม่มีครับ มีแต่เก่งฉาบฉวยกับเก่งแบบยั่งยืนเท่านั้น เก่งแบบยั่งยืนนี่แหละของจริงและบททดสอบก่อนที่จะได้มาก็คือ "เรามีความอดทนพอที่จะทำซ้ำๆหลายๆรอบรึเปล่า?"

K'Bell ^ ^

Recent Posts
Archive
Search By Tags
ยังไม่มีแท็ก
bottom of page