top of page

เรียนดนตรีในมหาลัยฯเป็นยังไง ง่ายไหม ?

เรียนดนตรีในมหาลัยฯเป็นยังไง ง่ายไหม ?

ความฝันของวัยรุ่นหลายคนที่ชอบดนตรีจะรู้สึกอยากเรียนต่อสายดนตรี เรียนดุริยางคาสตร์ด้วยความคิดที่ว่า "เรียนสบายเล่นดนตรีทั้งวัน" ด้วยความเป็นนิสิตดุริยางคศาสตร์คนนึงมาก่อนผมจะมาเล่ามุมมองข้างในนั้นให้ฟัง

ผมจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศาสตร์ (ดนตรีสากล) เครื่องเอกเปียโนคลาสสิคจาก ม.บูรพา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคณะดนตรีและการแสดง) ตอนเข้ามาใหม่ๆผมตื่นเต้นมากๆเพราะดุริยางคศาสตร์เป็นแหล่งรวมคนเก่งดนตรีจากทั่วประเทศมาเรียนด้วยกัน คือชอบมากที่มีแต่คนเล่นดนตรีอยู่รอบตัว คุยภาษาเดียวกัน ตอนแรกก็ฝันไว้ครับว่าเรียนสบายๆ เล่นดนตรีทั้งวันแต่งเพลงทั้งวันอะไรแบบนั้น แต่เปล่าเล้ยยย เจอเข้าจริงๆยากกว่าที่คิดไว้มากๆ

เริ่มด้วยวิชาเกี่ยวกับทฤษฎีทั้งหลายเช่น ทฤษฎีดนตรีที่ต้องปรับพื้นใหม่ให้ตรงกัน Ear trainingที่ต้องใช้หูฟังแล้วเขียนออกมาเป็นโน้ตหรือร้องออกมาให้ตรง ประวัติดนตรียุคต่างๆ เรียนคอรัสรวมวงร้องเพลงประสานเสียง อันนี้ขำแรกๆเวลาต้องร้องคนละเสียงกับเพื่อนข้างๆ เป็นอะไรที่จั๊กจี้มากๆครับบอกเลย555 ฯลฯ นี่แค่เริ่มต้นเบาๆ ครับ

โหดมาหน่อยจะเป็นวิชา Harmony (ประสานเสียง4แนว) ที่มีกฏเยอะมากกก เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการทำเสียงประสานให้เพราะโดยมีกฏการเขียนแน่นอนชัดเจน ยากขึ้นไปอีกก็ Form and Analysis ที่ต้องเรียนเรื่องของรูปแบบของเพลงแต่ละแบบแต่ละยุคและวิเคราะห์เพลงเป็น (มีประโยชน์กับผมมากวิชานี้) Band Arrange หรือวิชาที่สอนให้คิดเรียบเรียงดนตรีแบบต่างๆตั้งแต่วง 4 เครื่อง (ควอเตท)ไปจนถึงวงออเครสตร้า ตอนนั้นจำได้ว่าโดนให้เอาเพลงป๊อปเอามาเขียนเป็นออเครสตร้า เขียนเสร็จต้องเอาให้วงของมหาลัยฯเล่นเพื่อส่งการบ้าน ก็รุ่นพี่รุ่นน้องกันเองนี่แหละครับ แล้วต้องยืนเคาะเองด้วย (Conductor) คะแนนจะขึ้นอยู่กับว่าเราจะเขียนเพลงออกมาได้ฮาน้อยที่สุดได้แค่ไหน คือเพลงที่แต่ละคนทำเป็นออเครสตร้าฟังแล้วตลกมากครับ มันไม่รู้จะใส่อะไรให้เครื่องเยอะๆเล่น คลาริเน็ทเป่าเหมือนฟลูทเลยละกันง่ายดีอะไรแบบนั้น พอเล่นออกมาเสียงตลกมากครับ มันแข็งๆ บอกไม่ถูก555+ (ทำไมตอนทำในโปรแกรมมันเพราะนะ555+)

นอกจากวิชาทฤษฎีต่างๆเหล่านั้นแล้ว ยังมีวิชาที่เปรียบเสมือนเงาตามตัวของทุกคน ที่ ม.บูรพาเรียกว่าวิชาสกิลหรือวิชาเครื่องเอกของแต่ละคนนั่นเอง อย่างผมเอกเปียโนคลาสสิคก็ไม่ได้แปลว่าต้องเรียนเปียโนทุกวันนะครับ อาทิตย์นึงจะได้เรียนสกิลแค่ 1 ครั้งเหมือนเวลาเราเรียนตามโรงเรียนดนตรีข้างนอกเลย เหตุผลเพราะ "เรียนแล้วต้องซ้อม" ถ้าเรียนทุกวันแล้วจะเอาเวลาที่ไหนซ้อมส่งการบ้าน ผมก็เพิ่งรู้ตอนเข้ามาเรียนนี่แหละ นึกว่าเขาเรียนเครื่องเอกกันทุกวันซะอีก

ตอนจะจบนี่ยากมาก 2 วิชาหลักๆที่หลอมให้นิสิตดุริยางคศาสตร์จบออกมาเป็นเพรชคือ "Music Thesis กับคอนเสิร์ตจบ" Music Thesis (ดุริยนิพนธ์) คือวิชาสุดยอดอภิมหารายงานทียากที่สุดในชีวิตของ ป.ตรี คือเราต้องทำวิจัยในเรื่องที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน การเลือกหัวข้อวิจัยจะมีกรรมการคุมสอบมาคัดหัวเรื่องให้ว่า เรื่องที่เราจะทำอนุมัติให้ทำได้ไหม ถ้าไม่ได้นั่นเพราะเรื่องไปซ้ำกับคนที่เคยทำมาก่อน (จากทั่วประเทศ) หรือเรื่องไม่มีเนื้อหาพอจะเอามาทำวิจัย

สุดยอดที่สุดคงต้องยกให้คอนเสิร์ตจบครับ คอนเสิร์ตจบคือการเล่นเดี่ยว 1ชม.โดยประมาณเพื่อแสดงความสามารถทั้งหมดที่มีตั้งแต่เข้ามาเรียนจนกำลังจะจบ ต้องเล่นเป็นเพลงตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างผมจบเอกเปียโนคลาสสิค ผมต้องเล่นเพลงทั้งหมด 4 ยุคไล่มาตั้งแต่บาโรก คลาสสิค โรแมนติก อิมเพรสชั่นนิส เพลงที่จะเล่นสอบจบได้ต้องผ่านการอนุมัติจากอาจารย์ผู้สอนว่าเอาเพลงนี้ขึ้นเล่นได้ ต้องจัดคอนเสิร์ตมีสูจิบัตร (โปรแกรมการเล่น) มีป้ายโฆษณาจริงจังเชิญคนมาดู เป็นวันที่กดดันที่สุดในชีวิตวันนึงของคนเรียนดุริยางคศาสตร์เลยครับ

อันนี้ไม่ได้แจงรายละเอียดนะครับแค่คร่าวๆ ลองนึกภาพผมนะ จากเด็กเล่นคีย์บอร์ดวงลูกทุ่งให้โรงเรียน ชอบเล่นเพลงป็อปร็อคตามประสาวัยรุ่น ฝันว่าเรียนดนตรีในมหาลัยฯจะสบายๆเป็นทางของเรา กลับต้องมาเจอ Mozart Beethoven คอรัสออเครสตร้า ฯลฯ คือคิดในใจ อะไรเนี่ยยยย ไม่เหมือนที่คิดเลย อยากเรียนแต่อะไรมันส์ๆตามใจวัยรุ่น แต่มาเจอกับอะไรที่เหมือนจะไม่ได้เอามาใช้จริงในชิวิตเลย อยากจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ที่เรียนมามีคุณค่ากับผมมากๆครับ ที่เล่นเปียโนป๊อปได้แบบทุกวันนี้มันมาจากความรู้เหล่านี้หลอมรวมกันออกมาครับ ยาวเนอะนี่่ย่อๆแล้วนะ อ่านถึงตรงนี้น่าจะตอบคำถามได้แล้วนะครับว่าเรียนดนตรีในมหาลัยฯง่ายหรือเปล่า

K'Bell ^ ^

Recent Posts
Archive
Search By Tags
ยังไม่มีแท็ก
bottom of page